วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ทรงผม

   
       ตามความเชื่อแต่เก่าก่อน เส้นผมมักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางไสยศาสตร์ ใช้ปลุกเสกเล่นของต่างๆ นานา ต่อมาสำนักปรัชญาขงจื้อได้เผยแพร่แนวความคิด “ร่างกาย เส้นผม ผิวหนัง พ่อแม่ให้ มิกล้าทำลาย” ขึ้นมา ทำให้ความเชื่อที่ว่าการตัดผมถือเป็นการไม่กตัญญูต่อบุพการีเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงไปในสังคมจีน ชาวจีนในขณะนั้นหันมาให้ความสำคัญกับผมเป็นอย่างมาก จะตัดผมก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์จำเป็นเท่านั้น เช่น ปลงผมบวชเป็นชี เป็นหลวงจีน เป็นต้น


ปลงผมบวช


 ด้วยแนวความคิดที่ให้ความสำคัญกับเส้นผมนี้เอง จึงทำให้มีการใช้ “การโกนผม” เป็นวิธีการลงโทษวิธีหนึ่งไปด้วย และถือเป็นครั้งแรกที่เส้นผมมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ดังเช่นวิญญูชนแห่งรัฐฉีนาม "ฉุน อี๋ว์คุน" (淳于髡) ในยุคชุนชิว ก็เคยถูกลงโทษด้วยการโกนศีรษะเช่นกัน โดยชื่อเรียก “คุน” ของเขา ซึ่งแปลว่า “การลงโทษด้วยการโกนผม” ก็มีที่มามาจากการถูกลงโทษครั้งนั้นนั่นเอง
     
       นอกจากนี้ในประวัติศาสตร์ยังมีบันทึกเรื่องราวของการ “ตัดผมแทนศีรษะ” ด้วย ดังเช่นในยุคสามก๊ก โจโฉเคยฝ่าฝืนกฎทหารที่ตนเองเป็นผู้ตั้งไว้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจประหารชีวิตได้ จึงได้ให้มีการลงโทษด้วยการ “ตัดผมแทนศีรษะ”
     
       ต่างทรงผม-ต่างชนชาติ-ต่างฐานะ


ไว้ผมแบบชาวแมนจู



ไม่เพียงเส้นผมที่ชาวจีนให้ความสำคัญ แม้แต่เรื่องของทรงผมก็พิถีพิถันยิ่งนัก ทรงผมที่แตกต่างกันยังบ่งบอกได้ถึงฐานะที่ต่างระดับ ดังหลักฐานภาพวาดสมัยราชวงศ์ถังได้ปรากฎภาพวาดของสตรีไว้ผมเกล้ามวยสูง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคือหญิงสาวผู้สูงศักดิ์ และบรรดานางสนมของฮ่องเต้ ส่วนหญิงสาวชาวบ้านธรรมดาไม่มีใครทำผมทรงนี้

ประเพณีตัดผมของชนเผ่าซีหนัน

 นอกจากนี้ ทรงผมที่ไม่เหมือนกันก็บ่งบอกถึงความแตกต่างของชนชาติได้เช่นกัน ดังเช่นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผู้คนมักสยายผม ต่อมาชนชาติฮั่นได้เริ่มพัฒนาใช้เชือกรัดผม ขณะที่ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากยังคงปล่อยผมยาวสยาย ดังนั้นการ “รัดผม” และ “ปล่อยผม” จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แบ่งแยกระหว่างชนชาติฮั่นกับชนกลุ่มน้อยไปโดยปริยาย
     
       และหลังจากกองทัพชิงได้บุกเข้าสู่จงหยวนล้มล้างราชวงศ์หมิง ทรงผมก็กลายเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง ด้วยชาวแมนจูรู้ดีว่าทรงผมและวัฒนธรรมของชาวฮั่นนั้นเป็นสิ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านี้ยังคงจงรักภักดีกับเชื้อชาติของตนเอง ดังนั้นเพื่อกุมอำนาจการปกครองอย่างเด็ดขาดและให้ชาวฮั่นยอมศิโรราบ ทหารแมนจูจึงได้มีคำสั่งที่เด็ดขาดและเหี้ยมโหดต่อผู้ขัดขืน หนึ่งในนั้นคือคำสั่งให้ชาวฮั่นทั่วประเทศโกนผมครึ่งหัวแล้วไว้เปีย ใครขัดขืนฆ่า ดังที่ประกาศไว้ว่า “มีหัว ไม่มีผม, มีผม ไม่มีหัว" (留头不留发,留发不留头) นั่นเอง



ปัจจุบันใครจะไว้ทรงไหนก็แล้วแต่ความพอใจ


โดยถือว่าการตัดผมตามคำสั่งนั้นก็เหมือนเป็นเครื่องหมายว่าสวามิภักนั่นเอง แต่ในครั้งนั้นก็มีชาวฮั่นนับแสนคนที่ “ยอมเป็นผี ไม่ยอมตัดผม”
     
       จนเมื่อการปฏิวัติซินไฮ่ล้มล้างราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลงและได้มีการก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐจีนขึ้น ฝ่ายผู้มีชัยก็ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร และประชาชนตัดผมเปียทิ้งใครไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิดกฎหมาย กลุ่มคนหนุ่มสาวนักปฏิวัติที่เดินตามท้องถนนหากพบเห็นใครยังไว้ผมเปียก็จะตรงเข้าไปตัดผมทันที คนที่ไม่กล้าหรือไม่ต้องการตัดผมเปียก็จะใส่หมวกปิดบัง
     
       กระทั่งหลังยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน ผมจึงเริ่มห่างไกลกับการเมืองมากขึ้น กฎเกณฑ์และข้อจำกัดเรื่องผมเริ่มหายไปจากสังคม ชาวบ้านค่อยๆ มีอิสระในการเลือกไว้ผม หรือตัดผมได้ตามใจปรารถนา ยิ่งเมื่อได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามา รูปแบบทรงผมใหม่ๆ ก็เริ่มเข้ามา รวมไปถึงการย้อมสีผมด้วย
     
ที่มา:
http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000112968

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น