วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
ประวัติของเงินในประเทศจีน
ในฐานะคนชอบเก็บของโบราณ ผมเพิ่งจะได้เหรียญกระเบื้องเคลือบที่ใช้แทนเงินในบ่อน (ปี้) มา 30 กว่าเหรียญ ในประเทศไทยมีการใช้ปี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยทำขึ้นจากโลหะบ้าง แก้วบ้าง หรือดินเผาบ้าง แล้วแต่สภาพเศรษฐกิจและเทคโนโลยีในสมัยนั้นๆ ปี้ที่ผมได้มาเป็นปี้กระเบื้องซึ่งมีการสั่งผลิตมาจากประเทศจีนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 จวบจนมายกเลิกการใช้ในปี พ.ศ. 2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลายๆ ท่านคงเคยเห็นปี้กระเบื้องมาก่อน แต่หากผมจะถามว่าท่านใดบ้างเคยเห็นเหรียญอีแปะมาก่อน คงมีคนเคยเห็นน้อยกว่า ผมจึงใคร่ของเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของเงินตราของประเทศจีนให้ท่านฟัง เพราะคนกระทรวงการคลังก็คงมีความสนใจในเรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่มากก็น้อย
จากบันทึกของนักปรัชญาชาวจีน Ssuma Chien (145-86 ปีก่อนคริสตศักราช) พบว่าชาวจีนมีการใช้หอยเบี้ยเป็นเงินตราในการแลกเปลี่ยนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ Shang (1766-1122 ปี ก่อนคริสตศักราช) และจากการขุดค้นทางโบราณคดีในปัจจุบัน จะพบหอยเบี้ยจำนวนมากถูกฝังอยู่ในหลุมศพ ซึ่งจะมีมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้เป็นเจ้าของ โดยในสมัยต่อๆ มา เนื่องจากการขาดแคลนหอยเบี้ยและมีความต้องการใช้เงินตราเพิ่มสูงขึ้น (ทำให้ต้องนำเข้าหอยเบี้ยจากดินแดนต่างๆ ในแถบมหาสมุทรอินเดีย) จึงมีการผลิตหอยเบี้ยที่ทำจากหินบ้าง กระดูกบ้าง และที่สำคัญจากโลหะ (ตัวอย่างเช่นเงินจมูกมด- Ant Nose Coin และเงินหน้าผี- Ghost Face ในสมัยราชวงศ์ Chou ในปี 1122-256 ปี ก่อน คริสตศักราช)
ในสมัย Chou เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการหลอมโลหะ ก็นำไปสู่การพัฒนาเงินตราในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินจอบ (Spade Coin) เงินมีด (Knife Coin) และเงินอีแปะชนิดแรกๆ ที่มีรูปตรงกลางเป็นวงกลม (แตกต่างจากสมัยหลังที่มีรูเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส) โดยในสมัยนั้นหากเหรียญโลหะมีน้ำหนัก 12 กรัม จะคิดเป็นเงิน 1 Liang (หรือ Jin เท่ากับ 24 Shu) และ Ban Liang จะเท่ากับครึ่ง Liang ซึ่งหน่วยเงินชนิดนี้ถูกยกเลิกไปในสมัยราชวงศ์ฮั่น (Han, 206 ปี ก่อนคริสตศักราช ถึงคริสตศักราช 220) โดยในการผลิตเงินของจีนจะใช้การหล่อเหรียญจากแม่พิมพ์ที่ประกบเข้าด้วยกัน (ซึ่งแตกต่างจากในยุโรปซึ่งใช้ค้อนตีโลหะลงบนแม่พิมพ์โลหะ) บนเหรียญแต่ละเหรียญจะมีตัวอักษรที่บ่งบอกมูลค่าและสถานที่ที่ทำการหล่อเหรียญนั้นๆ (บางครั้งก็มีข้อมูลไม่ครบหรือมีรายละเอียดมากกว่านั้น)
โดยในสมัยต่อๆ มาจะมีการผลิตเงินอีแปะที่มีรูเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งจะกลายเป็นเงินเพียงรูปแบบเดียวของจีนตั้งแต่ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นจนมาถึงช่วงสาธารณรัฐซึ่งถูกแทนที่โดยเหรียญปั้มแบบในปัจจุบัน ซึ่งเหรียญอีแปะในยุคแรกๆ จะมีตัวอักษรเพียง 2 ตัว ด้านหน้าเหรียญ แต่ในสมัยต่อมาจะมีตัวอักษร 4 ตัว (อ่านจากบนลงล่าง แล้วอ่านจากขวามาซ้าย ส่วนด้านหลังอาจจะว่างเปล่า หรือมีสัญลักษณ์ หรือตัวอักษรเพิ่มเติม โดยเฉพาะในสมัยท้ายๆ ของการใช้ เช่น ในสมัยราชวงศ์ Ming คริสตศักราช 1368-1644 และ Ching คริสตศักราช 1644-1912)
ที่มา:
http://www.efa.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=389:2011-09-13&catid=50:tuesday-&Itemid=152
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น