วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แซ่ (姓)

   แซ่ (姓) คือคำเรียกนามสกุลของชาวจีน ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไทยคือลูกใช้แซ่ตามพ่อ แต่ต่างกันที่แซ่ของชาวจีนจะวางไว้หน้าชื่อ ส่วนของไทยหรือชาติตะวันตกจะวางไว้หลังชื่อ
     
       แซ่นั้นเริ่มกำเนิดขึ้นตั้งแต่ยุคสังคมแรกเริ่มของจีน (ราว 5,000 ปีก่อน) แต่ในเวลานั้นชาวจีนยกมารดรเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นการสืบวงศ์ตระกูลจึงสืบสายจากทางแม่ ลูกที่มาจากแม่คนเดียวกันจะอยู่กันเป็นกลุ่ม และไม่สามารถแต่งงานกันภายในกลุ่มได้ จะต้องแต่งข้ามกลุ่ม ต่อมาเพื่อให้มีการแบ่งแยกกลุ่มอย่างเด่นชัด จึงได้มีการกำหนดให้ใช้แซ่กำกับแต่ละวงศ์ตระกูล
     
       ในชาติวงศ์ที่สืบสายจากแม่นั้น ลูกชายหญิงจะได้รับถ่ายทอดแซ่จากแม่ และแน่นอนว่าคนแซ่เดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้
     
       โดยมีแซ่ จี (姬) จี๋ (姞) ซื่อ (姒) เจียง (姜) เป็นแซ่หลักในสมัยนั้น สังเกตุได้ว่าแซ่เหล่านี้มีตัวอักษร 女 (หนี่ว์) ซึ่งแปลว่า “ผู้หญิง” กำกับอยู่ด้วย เป็นการยืนยันให้เห็นว่า แซ่เริ่มมีขึ้นในช่วงยุคสังคมที่สืบวงตระกูลจากสายแม่
     
       ตามบันทึก “ทำเนียบร้อยแซ่” ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งว่าด้วยเรื่องแซ่นั้น ระบุแซ่ไว้ทั้งสิ้น 494 แซ่ เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการรวบรวมแซ่ทั้งในอดีตและปัจจุบันปรากฏว่ารวมได้ไม่ต่ำกว่า 8,000 แซ่ แต่ปัจจุบันที่ชาวจีนใช้กันจริงๆ มีประมาณ 3,000 แซ่เห็นจะได้ แบ่งเป็นแซ่เดี่ยวและแซ่ 2 พยางค์ ซึ่งแซ่เดี่ยวจะมีเยอะกว่า อย่างในบันทึกทำเนียบร้อยแซ่นั้นมีแซ่เดี่ยว 434 แซ่ มีแซ่ 2 พยางค์แค่เพียง 60 แซ่เท่านั้น
     
       โดยแซ่ 2 พยางค์ที่เห็นบ่อยที่สุดในปัจจุบันได้แก่ จูเก๋อ (จูกัด) โอวหยัง ซือหม่า ตวนมู่ กงซุน เป็นต้น ส่วนแซ่เดี่ยวที่พบมากที่สุดในปัจจุบันได้แก่แซ่หวัง ตามสถิติล่าสุดที่สำรวจมามีชาวจีนใช้แซ่หวังทั้งสิ้น 93 ล้านคน ตามติดด้วยแซ่หลี่ 92 ล้านคน และแซ่จาง 88 ล้านคน ขณะที่อีก 7 แซ่ ซึ่งรวมถึง เฉิน,โจว,หลิน มีจำนวนผู้ใช้แซ่ละ 20 ล้านคน
     
       และด้วยการที่ชาวจีนมีแซ่นิยมใช้อยู่เพียงไม่กี่ร้อยแซ่ จึงทำให้ปัจจุบันเริ่มเกิดปัญหา “ชื่อแซ่ซ้ำ” ดังนั้นจึงได้เริ่มมีการเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยการให้ลูกใช้แซ่ผสมระหว่าง พ่อกับแม่ อาทิ พ่อแซ่ “จู” แม่แซ่ “โจว” ก็ผสมกันเป็นแซ่ “จูโจว” หรือ “โจวจู” เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น